โรคตับกับการวิจัยในประเทศไทยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส

รศ.นพ. ทวีศักดิ์ แทนวันดี

สาขาวิชาโรคระบบทางเดินอาหาร ภาควิชาอายุรศาตร์

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

 

โรคตับนับว่าเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างมากในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย

1.    ไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง บี และซี จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคและองค์การอนามัยโลกว่า ในปี พ.ศ.2554 มีประชากรไทยเป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังถึงประมาณ 3.5 ล้านคนและไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรังถึงประมาณ 1.2 ล้านคน (http://www.searo.who.int/thailand/news/worldhepatitis2013/en/index.html)  ผู้ป่วยจำนวนนี้ถึงราว 1 ใน 3 จะมีการดำเนินโรคเพิ่มมากขึ้นตามระยะเวลาของการติดเชื้อ ทำให้เกิดภาวะตับแข็ง ภาวะแทรกซ้อนจากตับแข็ง ตับวาย และการเกิดมะเร็งตับปฐมภูมิ ซึ่งนับเป็นมะเร็งที่สำคัญในอันดับต้นๆ ทั้งผู้ป่วยที่เป็นเพศชายและเพศหญิง

2.    โรคตับเรื้อรัง ส่วนใหญ่เกิดจากไวรัสตับอักเสบดังกล่าวข้างต้น แต่ก็ยังมีโรคตับซึ่งเกิดจากสาเหตุอื่นที่พบได้บ่อย เช่น โรคตับจากการดื่มสุรา โรคตับจากภาวะอ้วน และโรคตับที่เกิดจากการใช้ยา ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับเรื้อรังเหล่านี้ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมจำนวนมากก็จะมีการดำเนินโรคต่อไปจนเกิด ภาวะตับแข็งหรือมะเร็งตับในอนาคต

3.    มะเร็งตับปฐมภูมิ สำหรับมะเร็งตับปฐมภูมินับเป็นมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในอันดับแรกๆ ของประชากรไทย อย่างไรก็ตาม มะเร็งตับปฐมภูมิที่พบในประเทศไทยยังแบ่งออกเป็น 2 ชนิด กล่าวคือ มะเร็งตับปฐมภูมิที่เกิดจากเซลล์ตับ (hepatocellular carcinoma) และมะเร็งตับปฐมภูมิที่เกิดจากเซลล์ท่อน้ำดี (cholangiocarcinoma) ซึ่งในประเทศไทยโดยรวมพบมะเร็งตับปฐมภูมิทั้ง 2 ชนิดได้พอๆ กัน แต่มะเร็งตับชนิด cholangiocarcinoma จะพบมากกว่าในผู้ป่วยภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ  มะเร็งตับปฐมภูมินับได้ว่าเป็นมะเร็งที่มีความรุนแรงมากที่สุดอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยส่วนมากเมื่อได้รับการวินิจฉัยมักมีชีวิตอยู่ได้เพียงระยะสั้นๆ

 

        ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันมีการคิดค้นการรักษาใหม่ๆ สำหรับโรคตับระยะต่างๆ ซึ่งทำให้ผลการรักษามีโอกาสดีขึ้นกว่าเดิมอย่างมาก  อย่างไรก็ตามการรักษาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาไวรัสตับอักเสบเรื้อรังบี หรือซีเรื้อรัง การรักษาโรคตับแข็งหรือพังผืดในตับด้วยยาลดพังผืด การรักษาไขมันเกาะตับหรือการรักษามะเร็งตับ ก็ยังมีประสิทธิผลต่ำกว่าเป้าหมายที่เราอยากได้มาก ในปัจจุบันจึงมีการพัฒนาการรักษาโรคต่างๆเหล่านี้ให้ดีขึ้นกว่าเดิมเป็นที่ สนใจของบริษัทยาและเวชภัณฑ์ในการที่จะพัฒนาการวินิจฉัยโรคตับระยะต่างๆและ การรักษาโรคตับ  นับเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยที่มีผู้ป่วยโรคตับหลากหลายและจำนวนมาก ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากไม่สามารถที่จะเข้าถึงการรักษาในปัจจุบันได้ทั้งหมด เนื่องจากการรักษามีราคาแพงหรือมีอาการข้างเคียงมาก  ผู้ป่วยกลุ่มนี้หากได้รับการรักษาด้วยยาใหม่ๆ จะเป็นผลดีต่อทั้งผู้ป่วยและลดภาระของประเทศไทยในการรักษาโรครวมถึงทำให้มี การพัฒนาด้านการศึกษาวิจัยทางการแพทย์จนประเทศไทยเป็นที่ยอมรับในวงการแพทย์ สากล